เบียร์จ๋าฉันมาแล้วจ้ะ

Soju (โซจู)🇰🇷 กับ Shōchū(โชจู)🇯🇵 ต่างกันอย่างไร?

หากใครเป็นแฟนคลับซีรี่ย์เกาหลี แน่นอนว่าจะต้องคุ้นเคยกับ เครื่องดื่มขวดเขียวๆเล็กๆ  เรียกว่าหากมีฉากในร้านอาหาร ต้องมีฉากที่ตัวละครในเรื่องดื่มอยู่แน่นอน นั่นก็คือ Soju 소주 (โซจู)

Soju เป็นที่รู้จักทั่วโลกผ่านทางสื่อบันเทิงต่างๆ ทั้งละครและเพลงของเกาหลี ถือว่า Soju เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของเกาหลีก็ว่าได้

ภาพการดื่มของเกาหลี ที่ถูกนำเสนอใน Music Video เพลง PSY – HANGOVER (feat. Snoop Dogg)

และหากใครที่เป็นชื่นชอบเครื่องดื่มของทางฝั่งญี่ปุ่น ก็คงพอทราบว่าญี่ปุ่นจะมีเหล้าประเภทที่ชื่อว่า Shōchū 焼酎 (โชจู) อยู่

ด้วยความที่ชื่อของเครื่องดื่ม 2 ชนิดนี้คล้ายกันมาก หลายคนอาจจะเคยสงสัยว่า

” Soju ของเกาหลี กับ Shōchū ของญี่ปุ่น เหมือนหรือต่างกันยังไง? “

เนื่องจากว่าทั้งเกาหลีและญี่ปุ่น ต่างก็เป็นประเทศที่ยืมตัวอักษรภาษาจีนมาใช้ เราจะมาดูวิธีการเขียนกันดีกว่า

จะเห็นได้ว่าทั้งสองคำแม้จะเขียนไม่เหมือนกันเป๊ะๆ แต่ก็มีความใกล้เคียงกันมาก ถ้าแปลจากตัวอักษรแล้ว จะมีความหมายเหมือนกัน คือตัวแรกแปลว่า เผา (Burn) และตัวที่สองจะแปลว่า เหล้า (Liquor)

ซึ่งรวมกันแล้วก็จะมีความหมายว่า Burnt Liquor

(ในภาษาจีนมีคำว่า Shaojiu (เฉ่าจู) ที่ใช้เรียกเหล้ากลั่น)

พูดถึงภาพจำที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเมื่อพูดถึง Soju เราก็จะนึกถึงเครื่องดื่มในขวดเขียวๆ ปริมาณ 300ml กว่าๆ แบบนี้

แต่ถ้าหากพูดถึง Shōchū หลายคนอาจจะไม่ได้มีภาพที่จำได้ชัดเจนนัก เพราะมีหลากหลาย บางอันก็ดู Modern บางอันก็ดูมีตัวอักษรญี่ปุ่นเยอะๆ แทบแยกไม่ออกกับเหล้าสาเก

อย่างไรก็ตาม ทั้ง Soju และ Shōchū นั้นเป็นเหล้าที่เกิดจากการเอาข้าวไปหมักกับเชื้อราและยีสต์ จากนั้นก็เอาไปกลั่นเหมือนกัน
(สำหรับ Soju ดั้งเดิม จะใช้ Nuruk เป็น Fermentation Starter ส่วน Shōchū จะใช้ เชื้อรา​ Koji และ Yeast)

อาจจะกล่าวได้ว่า ทั้งสองเครื่องดื่มนี้มีต้นกำเนิดที่ใกล้เคียงกันมาก แต่ว่ามีเรื่องราวและการพัฒนาที่แตกต่างกัน ทำให้ในปัจจุบันเป็นเครื่องดื่มที่เรามีภาพจำต่างกัน

ในบทความนี้จะไม่ได้ลงลึกมากถึงขั้นตอนการทำ และเป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างจาก Soju และ Shōchū โดยยึดจากในแบบที่เป็นภาพจำของคนทั่วไป

เรามาดูกันดีกว่าว่า Soju และ Shōchū ต่างกันอย่างไร!?

1.Shōchū จะเน้นเรื่องวัตถุดิบมากกว่า

ก่อนอื่นต้องเท้าความไปถึงกระบวนการกลั่นกันก่อน ทั้ง Soju และ Shōchū จะสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามวิธีการกลั่น ดังนี้

Soju

  • Distilled Soju : โซจูกลั่น – ใช้วิธีการกลั่นแบบกลั่นทับ
  • Diluted Soju : โซจูเจือจาง – ใช้วิธีการกลั่นแบบต่อเนื่อง

Shōchū

  • Otsu-rui หรือ Honkaku : โชจูที่ใช้วิธีการกลั่นแบบกลั่นทับ
  • Kou-rui : โชจูที่ใช้วิธีการกลั่นแบบต่อเนื่อง

(หมายเหตุ : ในปัจจุบัน Honkaku Shōchū มีการกำหนดเงื่อนไขวิธีการทำและวัตถุดิบ อาจจะกล่าวได้ว่า ไม่ใช่ Otsu-rui ทุกตัวจะเป็น Honkaku Shōchū)

การกลั่นนั้นใช้ประโยชน์จากการที่แอลกอฮอล์นั้นมีจุดเดือดต่ำกว่าน้ำ หลักการคือใช้ความร้อนทำให้แอลกอฮอล์ถึงจุดเดือดกลายเป็นไอ และใช้ความเย็นทำให้ไอกลับมาเป็นของเหลว

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ภาพหม้อกลั่น แบบ Pot Still / Photo by Akela NDE

การกลั่นทับ (Pot Still) คือการกลั่นครั้งเดียว เหล้าที่ได้ออกมาปริมาณแอลกอฮอล์จะไม่ได้สูงนัก ประมาณ 30-40% แต่ยังคงได้รสชาติของวัตถุดิบอยู่ การกลั่นแบบนี้นิยมใช้กับเหล้าเช่น Single Malt Whisky, Cognag

ภาพหอกลั่น จากเว็บ https://www.alcademics.com/2013/08/how-column-distillation-works-pot-column-still-edition.html

การกลั่นแบบต่อเนื่อง หรือหอกลั่น (Column Still) นึกภาพออกได้ง่ายๆ เหมือนการกลั่นภาพ Pot Still หลายๆรอบ ทำให้สามารถทำเหล้าที่มีแอลกอฮอล์สูงๆได้ (สูงได้ถึง 96%!) เหล้าที่ออกมาจะมีความ Clear และเนื่องจากกลั่นหลายรอบทำให้ไม่ค่อยมีรสของวัตถุดิบติดออกมา นิยมใช้กับเหล้าเช่น Vodka, Gin

กลับมาเข้าเรื่องกันต่อ Shōchū แบบประเภทที่ใช้การกลั่นทับ Otsu-rui, Honkaku Shōchū หลังจากนำข้าวใส่เชื้อราโคจิและยีสต์ไปหมักรอบแรกแล้ว จะมีการหมักรอบที่ 2 หรือเรียกว่าการหมักจริง ในขั้นตอนนี้จะมีการใส่วัตถุดิบหลัก ซึ่งสำคัญอย่างมากเพราะจะเป็นการกำหนดประเภทและคาแรคเตอร์ของ Shōchū เช่นถ้าใช้มันฝรั่งเป็นวัตถุดิบหลัก ก็จะเป็นประเภท Imo Shōchū ถ้าใช้ 麦 Mugi (ข้าวบาร์เลย์,ข้าวสาลี) เป็นวัตถุดิบหลักก็จะเป็นประเภท Mugi Shōchū หรือ Awamori 泡盛 เหล้าท้องถิ่นของโอกินาว่า ก็ใช้ข้าวไทย (ข้าวสายพันธุ์ Indica) เป็นวัตถุดิบหลัก

นอกจากนี้ยังมีวัตถุดิบอื่นๆ ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการทำ Honkaku Shōchū ซึ่งเมื่อได้ออกมาแล้วก็จะแบ่งประเภทไปโดยชัดเจน

แต่ว่าทางฝั่ง Soju ของเกาหลี จะไม่ได้มีการพรีเซนต์นำเสนอเรื่องวัตถุดิบหลัก ซึ่งเหตุผลจะอยู่ในข้อต่อไป

2.Soju จะมีแอลกอฮอล์น้อยกว่า

Soju ขวดเขียวที่วางขายทั่วไป ส่วนใหญ่จะมีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 17-20% ในขณะที่ Shōchū จะมีแอลกอฮอล์ที่สูงกว่าอยู่ที่ 25-35%

ก่อนปี 1965 Soju โดยทั่วไปจะมีแอลกอฮอล์อยู่ประมาณ 35% และหลังจากนั้นแอลกอฮอล์ก็น้อยลงเรื่อยๆ จนมาอยู่ที่ 17% อย่างในปัจจุบัน

ในสมัยก่อน Soju เป็นเครื่องดื่มที่สามารถต้มดื่มเองได้ที่บ้าน แต่หลังจากที่เกาหลีตกอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่นในช่วงปี 1910-1945 ในระหว่างนั้นมีการจัดเก็บภาษีสุรา มีการกำหนดขั้นต่ำในการผลิต ทำให้การต้มเหล้าดื่มเองเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล้าพื้นบ้านหายไปจำนวนมาก

(ภาพจาก EBOOK Koreana ฉบับ Winter 2013)

หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (1945) เกาหลีก็ประสบปัญหาต่างๆมากมาย รวมถึงปัญหาการขาดแคลนข้าว และในปี 1965 รัฐบาลได้ออกกฎหมายสั่งห้ามนำข้าวมา กลั่นเป็นเหล้า ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ (แม้ว่าก่อนหน้านี้มีการทดลองใช้วัตถุดิบอื่นๆมาทำแล้ว แต่ยังไม่ได้ถูกออกกฎหมายบังคับ)

และนี่ก็คือคำตอบของข้อ 1 ว่าทำไม Soju ถึงไม่ได้มีการเน้นเรื่องวัตถุดิบแบบ Shōchū

พอมีการแบน ทำให้การทำ Soju จากดั้งเดิมที่ใช้ข้าว ต้องใช้วัตถุดิบอย่างอื่นในการทำ โดยการใช้  Ethanol ที่มีแอลกอฮอล์สูง (Essense) ที่ทำจากมันเทศ มันสำปะหลัง เอามาเจือจางกับน้ำและเพิ่มความหวาน   อีกทั้ง หัวเชื้อแอลกอฮอล์ (Essense)ที่นำมาใช้ยังเป็นสินค้าควบคุมอีก ก็เลยมีการเจือจางกับน้ำมากขึ้น เพื่อให้ผลิตได้เยอะ และมีราคาถูก ทำให้ตั้งแต่นั้น Soju ที่ออกจำหน่ายในตลาด มีเปอร์เซนต์แอลกอฮอล์น้อยลงเรื่อยๆ

ด้วยความว่ามีราคาถูก จึงทำให้คนเข้าถึงง่าย แม้ว่าการ Ban จะถูกยกเลิกไปในปี 1999 แต่เพราะผู้คนคุ้นเคยกับ Soju แบบนี้ไปแล้ว Soju ใน Mainstream เลยยังคงผลิตด้วยวิธีนี้มาถึงปัจจุบัน

ในเมื่อก่อน อาจกล่าวได้ว่าการที่ Soju ลดแอลกออฮล์ส่วนหนึ่งมีผลจากการขาดแคลนหัวเชื้อและเพื่อทำให้ราคาถูก แต่ในปัจจุบัน น่าจะเป็นเรื่องของการตลาด อย่างเช่นมีปี 2015 มีการผลิต Fruit Soju ที่เป็นผสมผลไม้ที่มีแอลกอฮอล์อยู่แค่ 13% คาดว่ามาจับตลาดกลุ่มผู้หญิง

แน่นอนว่า Soju กลั่นและ Soju แบบดั้งเดิมที่แอลกอฮอล์สูงๆ ก็ยังมีบริษัทที่ทำอยู่และหาซื้อได้เช่นกัน ก็จะมีความ Craft และราคาสูง

ภาพจากคลิปแชนเนล Arirang Issue เกี่ยวกับ Andong Soju ที่ยังคงผลิตโซจูด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม

3.Shōchū มีวิธีดื่มที่หลากหลายกว่า

Itaewon Class (2020)

วิธีการดื่ม Soju ขวดเขียวแบบที่เราคุ้นตา มักจะเสริฟเย็น และเทใส่แก้วช็อตเล็กๆ จากนั้นก็ดื่มทีเดียวหมดทีละช็อต (ซึ่งก็สอดคล้องกับปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ ถ้า Alcohol 25-35% ก็คงเหนื่อยกันหน่อย)

ส่วนสำหรับ Shōchū นั้นจะไม่ได้มีวิธีดื่มที่เป็นหลักเป็นพิเศษ สามารถดื่มได้หลากหลายวิธีแล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล อาจจะดื่มเพียวๆ, On the Rock, ผสมน้ำ, ผสมน้ำอุ่น หรือผสมโซดาก็ได้ อาจจะด้วยเพราะปริมาณแอลกอฮอล์ที่มากกว่า Soju ด้วย

ภาพ Capture จากคลิป Youtube All About Shochu : Lecture2 : How to Enjoy Honkaku Shochu and Awamori จาก Channel สมาคมผู้ผลิตสาเกและโชจูแห่งประเทศญี่ปุ่น มีคลิปเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษด้วยนะ สามารถกดดูได้ที่นี่เลย

และทั้งหมดนี้ก็เป็นความแตกต่างอย่างคร่าวๆ ของ Soju และ Shōchū เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีต้นกำเนิดใกล้เคียงกัน แต่ผ่านเรื่องราวและถูกพัฒนาออกมาต่างกัน หากมีโอกาสเราจะนำเสนอเนื้อหาที่เจาะลึกมากขึ้น

ชมคลิปนี้ใน Channel เบียร์จ๋าฉันมาแล้วจ้ะ

Reference

  1. http://en.koreaportal.com/articles/26815/20170213/soju-tradition-korea-alcoholic-drink.htm
  2. https://issuu.com/jkim27/docs/chasingsoju
  3. https://readspoonful.co/2020/04/05/%E0%B9%82%E0%B8%8B%E0%B8%88%E0%B8%B9-soju/
  4. http://mandalaprojects.com/giant-project/soju.htm?fbclid=IwAR24WxWGEi_7cEppFfNHgBNu-n0-Rh8NGYWemDnMg98KaEYgfvJLc-ZmCnc
  5. https://thesoolconnection.com/a-brief-history-of-soju-most-popular-spirit/
  6. https://youtu.be/ruuzGYpBSF0
  7. https://www.koreaexpose.com/soju-globalization-high-end-drinking/
  8. https://liquorpage.com/difference-potstill-patentstill/
  9. https://vinepair.com/articles/pot-column-distilling-vodka/#:~:text=Because%20pot%20stills%20produce%20a,brandy%2C%20and%20white%20rum%20distillation
  10. https://maekan.com/article/shochu-soju-yardbirds-elliot-faber-breaks-down-the-worlds-favorite-rice-wines/#:~:text=Shochu%20and%20soju%20are%20both%20using%20the%20mold%20that%20is%20called%20Koji.&text=Elliot%3A%20One%20big%20difference%20between,of%20the%20fermentation%20and%20distillation

Comments

comments

แอดมินจ๋า

Add comment

Your Header Sidebar area is currently empty. Hurry up and add some widgets.